แมกนีเซียมเป็นสารที่จำเป็นสำหรับปฏิกิริยาชีวเคมีกว่า 300 กระบวนการในร่างกาย แมกนีเซียมช่วยให้ระบบประสาทและกล้ามเนื้อทำงานได้อย่างปกติ ช่วยให้หัวใจเต้นเป็นจังหวะอย่างถูกต้อง เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน และช่วยให้กระดูกแข็งแรง แมกนีเซียมยังช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยให้ความดันโลหิตเป็นปกติ รวมทั้งยังเป็นตัวร่วมในกระบวนการเผาผลาญพลังงานและการสังเคราะห์โปรตีน
ในช่วงหลัง ๆ วงการแพทย์เริ่มมีความสนใจในบทบาทของแมกนีเซียมในการป้องกันและควบคุมความผิดปกติต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น
บทบาทของแมกนีเซียมต่อโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด แมกนีเซียมจะถูกดูดซึมที่ลำไส้เล็ก และถูกขับออกที่ไต
ไมเกรน (Migraine)
ไมเกรนเกิดจาก ระบบประสาทไวต่อการกระตุ้นโดยสิ่งเร้าต่าง ๆ ทั้งจากภายในร่างกายและสิ่งแวดล้อม มีการหลั่งสารทำให้เกิดการอักเสบของเส้นเลือดและเส้นประสาทสมอง หลอดเลือดในสมองเกิดการหดและขยายตัวซึ่งเป็นสาเหตุ่ที่ทำให้เกิดอาการปวดหัวข้างเดียวที่เรียกว่าไมเกรนนั่นเองแต่จริง ๆ แล้ว ไมเกรนไม่จำเป็นต้องเป็นการปวดหัวข้างเดียวเสมอไป (คนส่วนใหญ่จะเข้าใจอย่างนั้น) ไมเกรนอาจจะเป็นการปวดทั้งสองข้าง หรือข้างเดียวแต่สลับข้างกันไปก็ได้ ส่วนใหญ่จะรู้สึกปวดตามจังหวะการเต้นของหัวใจเป็นจังหวะ ตุบ ๆ บริเวณหน้าผาก รอบดวงตา ขมับ และขากรรไกร อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ร่วมด้วย ระยะเวลาในการปวดตั้งแต่ 4 ชั่วโมงไปจนถึง 72 ชั่วโมง (แมกนีเซียมก็จะมีส่วนช่วยลดความถี่ในการเป็น และความรุนแรงให้ทรมานน้อยลงได้ :) )
ทั้งนี้ทั้งนันควรให้แพทย์เป็นผู้ตรวจและวินิจฉัยว่าคุณปวดหัวธรรมดา หรือเป็นการปวดหัวไมเกรน ถ้าเป็นอย่างหลัง อันนี้งานเข้าครับ มันจะอยู่กับคุณตลอด เป็น ๆ หาย ๆ ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของคุณ และสิ่งแวดล้อมที่มากระตุ้น
ไมเกรนมี 2 แบบ คือ
- Common migraine ก่อนเกิดอาการปวดไมเกรนจะมีอาการเตือนก่อนปวด เช่นเห็นแสง (aura) แว้บ ๆ ไปมา และอาจมีอาการทางสายตา เช่นตาพร่า ร่วมด้วย หรือได้ยินเสียงแว่ว ๆ ก่อนปวดทุกครั้ง
- Classic migraine คืออาการปวดไมเกรนแบบไม่เห็นแสง (aura) หรืออาการเตือนก่อน
แมกนีเซียมกับไมเกรน
ผู้ที่ปวดไมเกรนมักจะพบว่ามีปริมาณแมกนีเซียมในเลือดต่ำในช่วงที่ปวดหัวไมเกรนมีงานศึกษาวิจัยที่แสดงว่า การได้รับแมกนีเซียมเสริมอาจช่วยลดความถี่ของการปวดหัวไมเกรนได้ จากการศึกษาพบว่า ระดับของแมกนีเซียมมีผลกระทบต่อ serotonin receptor และมีผลต่อการสังเคราะห์และปลดปล่อย ไนตริก ออกไซด์ รวมทั้งมีผลต่อ NMDA receptor ซึ่งทั้งหมดเป็นโครงสร้างและองค์ประกอบทางเคมีที่สงสัยว่าน่าจะมีความสำคัญต่ออาการปวดไมเกรน
มีอีกบางงานวิจัยได้พบว่า ผู้ที่เป็นไมเกรนและได้รับแมกนีเซียม 600 mg เป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์พบว่า 41.6% มีอาการปวดหัวไมเกรนลดลงเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ได้รับยาหลอก แต่ไม่ได้รับแมกนีเซียม ซึ่งมีอาการปวดลดลงเพียง 15.8% เท่านั้น
การรักษาอาการปวดไมเกรน
นอกจากการรับประทานยาเพื่อระงับอาการปวดทันที แต่ก็รับประทานมากก็ไม่เป็นผลดีต่อร่างกาย จึงควรใช้วิธีเหล่านี้ร่วมด้วยเพื่อช่วยบรรเทาอาการและลดความถี่ในการใช้ยาลง- สังเกต และหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการไมเกรน เช่น ช่วงเวลาที่เป็น (เช้า บ่าย กลางดึก หรือช่วงประจำเดือนมา ฯลฯ), แสง, กลิ่น, เสียง, อุณหภูมิ, (ร้อน,เย็น), อาหาร, การพักผ่อนไม่เพียงพอ, ใช้สายตามาก ๆ นาน ๆ, ความเครียด ฯลฯ ถ้าหากสังเกตว่าเกิดจากอะไรและหลีกเลี่ยงได้ ผมรับประกันว่าคุณแทบจะไม่ต้องใช้ยา หรือใช้น้อยลงกว่าเดิมมาก แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ ก็คงต้องอาศัยยาและตัวช่วยในข้อต่อ ๆ ไปครับ
- ใช้น้ำเย็นประคบบริเวณที่ปวด เพื่อทำให้เส้นเลือดหดตัวลง บรรเทาอาการปวด อาจหาซื้อ cold-hot pack ตามร้านยา มาแช่ในตู้เย็นหรือถังน้ำแข็งใช้เป็นเจลประคบเย็น เวลามีอาการปวดก็เปิดตู้เย็นหรือถังนำมาใช้ประคบได้เลย
- รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแมกนีเซียม และ วิตามินบี 2 ซึ่งจะช่วยลดความถี่และความรุนแรงของอาการปวดไมเกรน
- รับประทานยา โดยรีบทานทันทีเมื่อมีอาการเตือนหรือเมื่อเริ่มเป็น จะช่วยลดระยะเวลาและความรุนแรงของอาการปวดไมเกรนได้ อย่าปล่อยให้เป็นนาน ๆ หรือมาก ๆ ค่อยทานยา ซึ่งอาจทำให้ยาช่วยลดอาการปวดได้ไม่ดีเท่ากับรีบทานเมื่อมีอาการเตือน
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแมกนีเซียม
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารส่วนใหญ่จะพบแมกนีเซียมในรูป Magnesium oxide, magnesium citrate, magnesium sulfate แต่ปัจจุบันก็มีการพัฒนาเป็น Chelated Magnesium เพื่อลดอาการข้างเคียงที่สำคัญก็คืออาการท้องเสีย
ขนาดรับประทานแนะนำคือ 400-600mg/ วัน โดยแบ่งรับประทานวันละ 2-3 ครั้ง อาการข้างเคียงที่พบบ่อยสำหรับผู้ที่รับประทานแมกนีเซียมเสริมก็คือ ท้องเสีย และควรปรึกษาแพทย์ถ้าหากคุณต้องการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแมกนีเซียมร่วมกับยาอื่น หรือมีโรคประจำตัวอยู่ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคไต ผู้ที่เสี่ยงจะเป็นนิ่วในไต
เพื่อให้กระบวนการดูดซึมแมกนีเซียมเป็นไปอย่างสมบูรณ์ ควรรับประทานคู่กับแคลเซียมหรือ อาหารที่มีแคลเซียมสูง โดยปริมาณของแคลเซียมไม่ควรเกินสองเท่าของแมกนีเซียม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น