Zinc (สังกะสี) ไม่ได้มีประโยชน์แค่เรื่องสิว และผิวมัน

Zinc หรือสังกะสี เป็นแร่ธาตุที่ร่างกายต้องการในปริมาณไม่มาก แต่มีความจำเป็นต่อร่างกายและขาดไม่ได้ เป็นแร่ธาตุที่พบมากในร่างกายเป็นอันดับสองรองจากธาตุเหล็ก (Fe)

สังกะสี (Zinc) เป็นส่วนประกอบในการทำงานของเอนไซม์ มากกว่า 100 ชนิด ในการสังเคราะห์โปรตีน, DNA, การแบ่งเซลล์และระบบภูมิคุ้มกัน การแบ่งตัวของเซลล์ผิวนั้น ต้องอาศัยแร่ธาตุสังกะสี บางคนถ้าขาดแร่ธาตุชนิดนี้แล้วก็อาจจะทำให้แผลหายยาก ผมร่วงง่าย นอกจากนี้ สังกะสียังช่วยชะลอการเสื่อมสภาพของเซลล์ตามธรรมชาติให้ช้าลง

อาหารที่มี Zinc ในปริมาณสูงที่สุดคือ หอยนางรม (ดังที่เราเคยได้ยินกันบ่อย ๆ ว่าทานหอยนางรมแล้วจะทำให้มีอารมณ์ทางเพศสูง เพราะมี Zinc ในปริมาณสูงที่สุด ซึ่ง Zinc จะส่งผลต่อความต้องการทางเพศ) นอกจากนี้ Zinc ยังพบมากในเนื้อแดง เนื้อสัตว์และหอยต่าง ๆ 


ความสำคัญของ Zinc

  • Zinc มีส่วนช่วยเอนไซม์ Alkaline Phosphatase ในกระบวนการสร้างกระดูกและฟัน
  • Zinc เป็นส่วนหนึ่งของเอนไซม์ Superoxide Dismutase ซึ่งเป็นสาร anti-oxidant ช่วยปกป้องเซลล์จากอนุมูลอิสระซึ่งเป็นสาเหตุต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดความผิดปกติของร่างกายรวมถึงโรคมะเร็งด้วย
  • Zinc เป็นส่วนหนึ่งของเอนไซม์ Carbonic Anhydrase ซึ่งช่วยรักษาสมดุลในการทำงานของระบบประสาทและสมอง
  • Zinc ช่วยรักษาและลดอาการที่เกิดจากหวัด มีงานวิจัยพบว่า Zinc ในรูปแบบยาอมรวมทั้งน้ำเชื่อม (ไม่รวม Zinc ในรูปแบบกลืนพร้อมน้ำที่เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร) ช่วยทำให้หายจากอาการหวัดได้เร็วขึ้น รวมทั้งลดความรุนแรงของอาการต่าง ๆ ในขณะที่เป็นหวัด ถ้ารับประทานภายใน 24 ชม.หลังจากเป็นหวัด
  • Zinc ช่วยให้เซลล์จับกับวิตามินเอได้ดีขึ้น เซลล์ผิวที่สร้างขึ้นใหม่ก็จะมีสุขภาพดี ช่วยในการรักษาสมดุลของปริมาณไขมันที่ผิวหนัง จึงมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาสิวที่เกิดจากการอุดตันของไขมันที่รูขุมขนได้
  • Zinc มีส่วนสำคัญในกระบวนการสร้างกรดนิวคลีอิค ทั้ง DNA และ RNA ซึ่งเป็นสารพันธุกรรมที่เซลล์ต้องใช้ในการสร้างเซลล์ใหม่ มีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของทารก เด็ก และสตรีมีครรภ์ 
  • นอกจากนี้เวลาเกิดแผลต่าง ๆ ไม่ว่า แผลผ่าตัด แผลถลอก แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก เป็นต้น ร่างกายจำเป็นต้องสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมาทดแทน และต้องใช้ DNA กับ RNA ในการสร้างเซลล์ใหม่ ร่างกายจำเป็นต้องการ Zinc มากกว่าปกติ และการรับประทานอาหารที่มี Zinc มาก ๆ หรือรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Zinc เพิ่มเติมในขณะที่เป็นแผล จะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น
  • Zinc มีส่วนช่วยการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้มีประสิทธิภาพ ป้องกันเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย โดยเฉพาะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของเม็ดเลือดขาวที่ชื่อ T-Lymphocyte
  • Zinc มีส่วนสำคัญต่อการควบคุมการทำงานของฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และควบคุมการทำงานของอวัยวะรับรสให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • สังกะสีจำเป็นต่อการเจริญของระบบสืบพันธุ์ และช่วยให้ต่อมลูกหมากทำหน้าที่ได้ปกติ ป้องกันการเป็นหมัน

อาการที่บ่งบอกว่าร่างกายกำลังขาด Zinc

  • ผมร่วง และโรคผิวหนัง เป็นอาการเด่นของผู้ที่ร่างกายได้รับ Zinc ไม่เพียงพอ Zinc มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเซลล์ เมื่อร่างกายได้รับ Zinc ไม่เพียงพอก็จะทำให้เซลล์อ่อนแอ ซึ่งก็จะทำให้ผมร่วงเนื่องจากเซลล์ที่หนังศีรษะอ่อนแอ และผิวหนังอักเสบ ผิวแห้ง เป็นสะเก็ด เป็นผื่นง่าย แผลหายช้า
  • ระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ, อ่อนแอ เมื่อร่างกายขาด Zinc จะส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันให้ลดลงและอ่อนแอ ซึ่งทำให้มีร่างกายมีโอกาสติดเชื้อ ,เป็นไข้หวัด, ไม่สบายง่ายกว่าปกติ
  • ท้องเสีย เนื่องมาจากเหตุก่อนหน้านี้ เมื่อระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง ร่างกายก็อาจมีความสามารถในการกำจัดเชื้อน้อยลง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือเชื้อที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย ท้องร่วงนั่นเอง
  • ไม่ค่อยหิว, เบื่ออาหาร เมื่อร่างกายขาด Zinc ทำให้อวัยวะรับรสมีประสิทธิภาพลดลง ทานอาหารไม่อร่อย ถ้าเป็นนาน ๆ ไม่ได้รับการรักษาก็อาจทำให้เป็นโรคเบื่ออาหารได้
  • มีความผิดปกติของ ความจำความเข้าใจ และการเคลื่อนไหว สตรีมีครรภ์ที่ขาด Zinc นอกจากจะทำให้แม่ไม่แข็งแรงแล้ว ยังทำให้ระบบประสาทของลูกในท้องมีปัญหา เกิคความผิดปกติของระบบการเคลื่อนไหว ความจำความเข้าใจของทารก
  • อาการอื่น ๆ ได้แก่ การมีบุตรยาก ความต้องการทางเพศลดลง รอยด่างเป็นจุด ๆ บนเล็บมือ นอนหลับไม่สนิท ความสามารถในการรับรสหรือกลิ่นลดลง ในบางรายอาจมีภาวะเลือดจาง

ใครที่ควรรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Zinc

  • บุคคลที่ได้รับ Zinc ในแต่ละวันไม่เพียงพอ ได้แก่
  1. ผู้ที่เป็นมังสวิรัติ เนื่องจากผักมี Zinc ในปริมาณต่ำเมื่อเทียบกับที่พบในเนื้อสัตว์ ผู้ที่ทานมังสวิรัติจึงมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับ Zinc ไม่เพียงพอกับที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน
  2. ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ 30-50% ของผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะพบว่ามีปริมาณ Zinc ในปริมาณต่ำ เนื่องจากแอลกอฮอล์จะไปลดการดูดซึม Zinc ที่ลำไส้เล็ก และเพิ่มการขับ Zinc ออกไปกับปัสสาวะ
  • สตรีมีครรภ์, ให้นมบุตร มีความต้องการ Zinc เพิ่มขึ้นจากปกติเนื่องจากต้องสะสมไว้ให้ลูกในท้อง หรือ เมื่อให้นมลูก
  • เด็ก,วัยรุ่น ที่กำลังเจริญเติบโต (ขึ้นอยู่กับว่าได้รับ Zinc ในปริมาณเพียงพอในแต่ละวันแล้วหรือยัง)
  • ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับผิวหนัง เช่น หน้ามัน, เป็นสิว, ผิวหนังอักเสบ เป็นผื่นง่าย หรือบ่อย
  • ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ เป็นหวัดง่าย เป็นโรคติดเชื้อต่าง ๆ ได้ง่าย เช่น ท้องเสียจากการติดเชื้อ Zinc จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิต้านทานของร่างกาย โดยอาจรับประทานร่วมกับ vitamin C เพื่อช่วยเพิ่มภูมิต้านทานให้ดียิ่งขึ้นก็ได้
  • ผู้ที่มีปัญหาแผลหายช้า เช่นแผลกดทับ แผลผ่าตัด แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ซึ่งอาจเกิดจากมีระดับ Zinc ในร่างกายต่ำ
  • ผู้ที่มีปัญหาภาวะมีบุตรยาก

เป็นสิว หน้ามัน ทาน Zinc จะช่วยได้จริงหรือเปล่า ?

         มีการวิจัยมากมาย รวมทั้งจากการศึกษาพบว่าการรับประทาน Zinc ประมาณ 4 สัปดาห์ แสดงให้เห็นถึงการลดจำนวนของสิวผด สิวตุ่มหนอง

         Zinc มีส่วนในการควบคุมสมดุลการผลิตฮอร์โมน Testosterone ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ควบคุมการแสดงออกของลักษณะเพศชาย (ในผู้หญิงบางคนที่มีฮอร์โมนนี้สูงก็จะพบว่าหน้ามัน และเป็นสิวง่าย) และเป็นสาเหตุหลักของการเกิดสิว รวมทั้งควบคุมการผลิตน้ำมันของต่อมไขมันใต้ผิวหนังให้เป็นปกติ และจากคุณสมบัติที่เป็นส่วนประกอบของสารต้านอนุมูลอิสระ และช่วยเพิ่มภูมิต้านทาน Zinc จึงมีส่วนช่วยต้านเชื้อแบคทีเรียซึ่งเป็นสาเหตุของสิวอักเสบได้อีกด้วย

         นอกจากนี้ Zinc ยังช่วยให้เซลล์ผิวแบ่งตัวได้ดี ลดปัญหาการอุดตันของเซลล์ผิวที่ตายแล้ว (ข้อนี้ ถ้าล้างหน้าให้สะอาด หมดจด ไม่ขัดถูแรงจนเกินไป ก็ช่วยได้เยอะครับ) และ Zinc ยังมีบทบาทสำคัญต่อการสมานแผลของเซลล์ ทำให้แผลเป็นที่อาจเกิดขึ้นหลังจากที่เป็นสิวอักเสบ หายไว้ขึ้น ทำให้มีโอกาสที่จะเป็นรอยดำ รอยหลุมสิวต่าง ๆ น้อยลงกว่าคนที่ไม่ได้รับประทาน Zinc 

Zinc มีอันตรายหรือเปล่า ?

  • มีแน่นอน ถ้าได้รับในปริมาณมากจนเกินไป อาการเมื่อได้รับ Zinc ในปริมาณมากเกินไป ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว ปวดมวนท้อง ทานอาหารไม่อร่อย ท้องเสีย (สังเกตว่าสองอาการหลังจะเหมือนกับคนที่ขาด Zinc เลย) 
  • ถ้าได้รับ Zinc ในปริมาณมากเกินไปเป็นเวลานาน ก็อาจทำให้เกิดปัญหาอื่นตามมา เช่น ระดับ Copper (แร่ธาตุทองแดง) ในร่างกายต่ำ, ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ไม่ดี และ HDL ซึ่งเป็นไขมัน โคเลสเตอรอลชนิดดี อยู่ในระดับต่ำ


ปริมาณสูงสุดของ Zinc ที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายแบ่งตามช่วงอายุ (ไม่รวมการได้รับ Zinc เพื่อใช้ในการรักษาทางการแพทย์ และอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์นะครับ)

     ช่วงอายุ                               ปริมาณ Zinc สูงสุดที่ยังปลอดภัย
                                แรกเกิด - 6 เดือน                                               4 mg
                                อายุ 7–12 เดือน                                                 5 mg
                                อายุ 1-3 ปี                                                          7 mg
                                อายุ 4–8 ปี                                                       12 mg
                                อายุ 9–13 ปี                                                     23 mg
                                อายุ 14–18 ปี                                                   34 mg
                                อายุ 18+ และผู้ใหญ่                                         40 mg

ทาน Zinc ร่วมกับยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอื่นได้หรือไม่ ? 

     ทานได้ แต่ควรระมัดระวังในการใช้ร่วมกับยาหรืออาหารบางกลุ่ม Zinc อาจทำปฏิกิริยา, รบกวนการดูดซึมของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และยาบางชนิด นอกจากนี้ยา, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางตัว ก็อาจทำให้ระดับของ Zinc ในร่างกายลดลง ตัวอย่างเช่น 
  • การรับประทาน Zinc ร่วมกับยาฆ่าเชื้อกลุ่ม Quinolone (Norfloxacin, Ciprofloxacin, Ofloxacin) และ กลุ่ม Tetracycline (Doxycycline, TC mycin, Heromycin, Gano) จะทำให้การดูดซึมทั้งของ Zinc และยาฆ่าเชื้อเหล่านี้ลดลง หากต้องทานยาฆ่าเชื้อ 2 กลุ่มนี้ร่วมกับ Zinc ควรทานยาฆ่าเชื้ออย่างน้อย 2 ชม.ก่อนทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Zinc หรือ 4-6 ชม.หลังจากทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Zinc
  • ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Zinc จะลดการดูดซึมของยา Penicillamine (ยาที่ใช้สำหรับรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์) ทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลง ควรทาน Zinc ก่อนหรือหลังจากทานยา Penicillamine อย่างน้อย 2 ชม.
  • ยาขับปัสสาวะกลุ่ม Thiazide Diuretics เช่น HCTZ จะทำให้ Zinc ถูกขับออกไปกับปัสสาวะมากขึ้น การทานยากลุ่มนี้เป็นระยะเวลานานอาจทำให้ระดับ Zinc ในร่างกายลดลง
ทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Zinc รูปแบบใดดี
     Zinc ที่พบในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร มักจะอยู่ในรูปของ , Zinc Sulfate, Zinc Acetate และ Zinc Gluconate โดย Zinc Gluconate ในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมบางยี่ห้อจะระบุว่า Zinc amino acid chelated  โดยเมื่อ Zinc Gluconate เข้าสู่ร่างกายจะเปลี่ยนไปอยู่ในรูป chelated และสามารถจับกับกรดอะมิโน เมไธโอนีน จึงทำให้ดูดซึมได้ดีและเร็ว 

     แต่ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของเกลือแบบไหน ก็ควรดูที่ปริมาณ Zinc สูทธิหลังจากแตกตัวจากเกลือของมันแล้ว ซึ่งโดยปกติ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Zinc ก็จะระบุอยู่แล้วว่า Zinc ในรูปเกลือนั้น มี Zinc อยู่จริง ๆ เท่าไหร่