เพชรสังฆาต สมุนไพรบรรเทาริดสีดวงทวาร



เพชรสังฆาต เป็นยาที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อใช้เป็นยาสำหรับรักษาโรคริดสีดวงทวาร มีสรรพคุณในการรักษาเกี่ยวกับกระดูก โดยนำไปผสมแป้ง และสมุนไพรบางชนิด ทำเป็นยาพอกในรายที่กระดูกหัก แต่ก็มีบางตำรับทำเป็นยากินรักษาอาการปวดหลัง ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยพบว่ามีแนวโน้มที่จะรักษามะเร็งบางชนิดได้ เนื่องจากมีสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) อย่างวิตามินซีสูงถึง 398 มิลลิกรัม และมีแคโรทีน 267 มิลลิกรัม ในต้นสด 100 กรัม


มีการศึกษาวิจัยถึงประสิทธิภาพของสมุนไพรเพชรสังฆาตในการรักษาโรคริดสีดวงทวาร โดยเปรียบเทียบกับยาแผนปัจจุบัน พบว่าประสิทธิภาพในการรักษาใกล้เคียงกัน แต่ค่าใช้จ่ายของเพชรสังฆาตถูกกว่ายาแผนปัจจุบันถึง 20 เท่า 

โรงพยาบาลชุมชนหลายแห่งจึงนำเพชรสังฆาตชนิดแคปซูลมาใช้ในการรักษา
โรคริดสีดวงแทนยาแผนปัจจุบัน ดยทั่วไปหากรับประทานเพชรสังฆาตประมาณ 7 วัน อาการริดสีดวงก็จะบรรเทาลงได้ แต่ที่สำคัญคือต้องปรับพฤติกรรมที่ทำให้อาการริดสีดวงกำเริบด้วย เช่น ทานผัก ผลไม้ที่มีกากใยสูง ทานน้ำเยอะ ๆ เพื่อให้ขับถ่ายสะดวก ป้องกันท้องผูก หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด หลีกเลี่ยงการออกแรงเบ่ง ฯลฯ

ส่วนการศึกษาวิจัยเรื่องความเป็นพิษของสมุนไพรเพชรสังฆาต พบว่าเป็นสมุนไพรที่มีความเป็นพิษเพียงเล็กน้อยจนถึงไม่มีความเป็นพิษเลย โดยเป็นการศึกษาในสัตว์ทดลอง สำหรับในคนยังต้องมีการศึกษาในระยะยาวต่อไป อย่างไรก็ตามผลจากเท่าที่ได้มีการนำมาใช้ในทั่วไป ยังไม่มีรายงานความเป็นพิษในคน

ผลงานการวิจัย

1. มีการศึกษาวิจัยพบว่าต้นเพชรสังฆาต ประกอบด้วยสารเคมีหลายกลุ่ม เช่น สารกลุ่ม  riterpenoids, steroids, ผลึก oxalate รูปเข็ม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ในเพชรสังฆาต 100 กรัม ประกอบด้วย แคโรทีน (carotene) 267 mg และ วิตามินซี 398 mg

2. มีรายงานการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา และผลการทดลองทางคลินิคของสารสกัดเพชรสังฆาต มีฤทธิ์เร่งการประสานงานของกระดูกที่หักในสัตว์ทดลอง มีฤทธิ์ลดความดันโลหิตเมื่อทดลองกับสุนัข มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ

3. มีงานวิจัยทางคลินิคในการใช้เพชรสังฆาตเพื่อรักษาริดสีดวงทวารหนักที่โรงพยาบาลกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก พบว่า "เพชรสังฆาตแคปซูล" ให้ผลการรักษาที่ดีเทียบเท่ากับยาแผนปัจจุบัน

เอกสารอ้างอิง
1. บทความ. 2552. ข้อมูลทางวิชาการ พืชสมุนไพร เพชรสุงฆาต. (ออนไลน์) www.gooherb.com.
2. พญ. ดวงรัตน์ เชี่ยวชาญวิทย์ และคณะ. โรงพยาบาลกระทุ่มแบน จังหวัดพิษณุโลก. รายงานผลการวิจัยเพชสังฆาตกับการรักษาโรคริดสีดวงทวาร.
3. สุนทรีย์  สิงห์บุตรา. 2542. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด. บริษัทศุภาลัย มีเดีย จำกัด. กรุงเทพฯ
4. เอมอร คชเสนี. 2552. พิฆาตริดสีดวง ด้วยสมุนไพร "เพชรสังฆาต". (ออนไลน์) www.g-gang.com/board.