ริดสีดวงทวาร

ริดสีดวงทวาร


อาการของโรคริดสีดวงทวาร

     1. มีการบวมและอักเสบขึ้นที่ผนังหลอดเลือดดำของลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ( Rectum) และทวารหนัก (Anus) การที่ผนังหลอดเลือดดำมีการอักเสบบวม ทำให้เกิดเป็นก้อนเนื้อหรือติ่งเนื้อยื่นออกมาที่บริเวณทวาร บางรายอาจมีของเหลวลื่น ๆ เหนียว ๆ ไหลออกมาทางทวาร
     2. มักมีอาการคัน ระคายเคือง รอบ ๆ ทวารหนัก
     3. อาจมีเลือดสีแดงสดออกจากทวาร ภายหลังถ่ายอุจจาระ (ถ้าเลือดมีสีคล้ำ อาจเป็นเลือดที่ออกจากบริเวณอวัยวะอื่นภายในระบบทางเดินอาหาร ต้องสังเกตอาการอื่นร่วมด้วย)
     4. เจ็บ ปวด บริเวณทวารหนัก โดยเฉพาะเวลาถ่ายอุจจาระ

ระดับความรุนแรงของริดสีดวงทวาร แบ่งเป็น 4 ระยะ คือ

     1. ระยะที่ 1 เป็นระยะที่ยังไม่มีหัวริดสีดวงทวารยื่นออกมานอกปากทวาร ถ้าท้องผูก อุจจาระแข็ง จะทำให้มีเลือดไหลออกมาด้วยเวลาขับถ่าย

     2 .ระยะที่ 2 เป็นระยะที่เริ่มมีหัวริดสีดวงทวารยื่นออกมาในขณะเบ่งถ่ายอุจจาระ แต่สามารถหดกลับเข้าไปเองหลังจากขับถ่าย โดยไม่ต้องใช้มือช่วยดันเข้าไป


     3. ระยะที่ 3 เป็นระยะที่มีหัวริดสีดวงทวารยื่นออกมาขณะเบ่งถ่ายอุจจาระ ไอหรือจามแรง ๆ เบ่งแรงยกของหนัก โดยหัวริดสีดวงทวารไม่สามารถหดกลับได้เอง ต้องใช้นิ้วมือช่วยดันกลับเข้าไป

     4. ระยะที่ 4 เป็นระยะที่หัวริดสีดวงทวารยื่นออกมาอยู่ข้างนอกตลอดเวลา และใช้มือดันกลับเข้าไปไม่ได้แล้ว ถ้าปล่อยให้เป็นถึงระยะนี้จะมีอาการเจ็บปวดมาก
ริดสีดวงในระยะต่าง ๆ

สาเหตุของโรคริดสีดวงทวาร

     - ส่วนใหญ่เกิดจากการเบ่งถ่ายอุจจาระบ่อย ๆ นาน ๆ ซึ่งเป็นผลจากอาการท้องผูก
     - การกลั้นอุจจาระซึ่งลำไส้ใหญ่จะดูดน้ำจากกากอาหารทำให้อุจจาระแข็ง ถ่ายลำบาก
     - การยกของหนัก ๆ การออกแรงเบ่งต่าง ๆ การนั่งหรือยืนติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ

     ระดับแรงดันในช่องท้องที่เกิดจากการเบ่งอุจจาระ จะส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดดำบริเวณทวารไหลเวียนได้ไม่สะดวก เกิดการพองโต บวมช้ำ จนในที่สุดเนื้อเยื่อบริเวณนั้นโตขึ้นเป็นติ่งเนื้อ
     ความหนาของผนังเยื่อบุลดลงเมื่อมีของแข็งมาเสียดสี เช่น อุจจาระที่แห้งแข็ง หรือระดับแรงดันที่เพิ่มขึ้นอีกทำให้เกิดการปริแตกหรือฉีกขาดของหลอดเลือดดำ ทำให้เกิดเลือดสด ๆ ออกมาได้
     สาเหตุอื่น ๆ เช่น อายุที่มากขึ้น อาการท้องเสียเรื้อรัง การร่วมเพศทางทวารหนัก ความอ้วน ความดันโลหิตสูง ภาวะตั้งครรภ์ การคลอดบุตรยาก และยังมีความสัมพันธ์กับความเครียดสูงด้วย

การปฏิบัติตัวเมื่อเป็นริดสีดวงทวาร

     1. นั่งแช่น้ำอุ่น 10-15 นาที วันละ 3 ครั้ง เพื่อช่วยลดอาการปวดบวม และการอักเสบของริดสีดวงทวาร
     2. หลีกเลี่ยงสิ่งที่จะทำให้เกิดอาการท้องผูก และอุจจาระแข็ง หลีกเลี่ยงการออกแรงเบ่ง
        - กินอาหารที่มีเส้นใยสูง เช่น ผักผลไม้ และธัญพืช เป็นประจำ เพื่อช่วยให้อุจจาระอ่อนนุ่ม
        - ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว หรือ 2 ลิตร
        - หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คาเฟอีน เพราะจะทำให้ร่างกายขาดน้ำ ทำให้อุจจาระแข็ง ถ่ายลำบาก และควรหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ทั้งรสเผ็ด เปรี้ยว เค็ม เพราะจะทำให้ระคายเคืองเวลาถ่ายอุจจาระได้
        - หลีกเลี่ยงการกลั้นอุจจาระ รวมทั้งไม่เบ่งถ่ายโดยที่ยังไม่รู้สึกปวดถ่ายอุจจาระ
     3. กรณีทำความสะอาดด้วยกระดาษชำระ ให้ใช้การซับเบา ๆ แทนการถู เพื่อป้องกันการอักเสบปวดบวมมากกว่าเดิม
     4. ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะจะช่วยกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ ลดความเสี่ยงท้องผูก ทำให้ถ่ายอุจจาระง่าย
     5. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมอันเป็นสาเหตุของโรคริดสีดวงทวาร เช่น ชอบอ่านหนังสือเวลาเข้าห้องน้ำ การนั่งนาน ๆ การยืนในท่าเดิม ๆ นาน ๆ ความเครียด เป็นต้น

การรักษาโรคริดสีดวงทวาร

     1. การปรับพฤติกรรม ตามหัวข้อการปฏิบัติตัวข้างต้น ซึ่งเป็นคำแนะนำสำหรับผู้ที่เป็นโรคริดสีดวงทวารในทุกระยะ โดยผู้ที่เพิ่งเริ่มเป็นในระยะที่ 1 อาจใช้วิธีการปรับพฤติกรรมเพียงอย่างเดียวก็ได้ ส่วนผู้ที่เป็นระยะที่ 2 ขึ้นไป ควรใช้วิธีการปรับพฤติกรรมร่วมกับวิธีอื่น ๆ

     2. การใช้ยาแผนปัจจุบัน มีทั้งยาสำหรับรับประทาน ยาทา และยาเหน็บทวาร ซึ่งยาเหล่านี้จะช่วยลดอาการอักเสบ ปวดบวม รวมทั้งอาการคันได้

     3. การใช้ยาสมุนไพร ที่เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย คือ เพชรสังฆาต ซึ่งให้ผลดีเทียบเท่ายารับประทานแผนปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีสมุนไพรอื่น ๆ อีกที่นิยมนำมาทำเป็นแคปซูลผสมกัน ทั้งสมุนไพรไทย สมุนไพรจีน เช่น เจตมูลเพลิง อัคคีทวาร โกฐน้ำเต้า ตังกุย ตี่ยู้ อึ่งแปะ

     4. การใช้ยางรัด เหมาะกับริดสีดวงในระยะที่ 2-3 โดยการรัดยางกับหัวริดสีดวง ใช้เวลา 5-7 วัน ริดสีดวงจะเหี่ยวแห้ง และหลุดออก

     5. การฉีดสารที่ทำให้เกิดการแข็งตัว ทำให้ผนังหลอดเลือดดำสลายตัว และหัวริดสีดวงเหี่ยวแห้งไป

     6. การผ่าตัด ใช้สำหรับกรณีที่ใช้วิธีอื่น ๆ ไม่ได้ผล หรือไม่หายขาด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น