ใครที่เป็นฝ้าได้บ้าง
ฝ้าพบได้บ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ในจำนวนผู้ที่เป็นฝ้าทั้งหมดจะมีผู้ชายอยู่เพียง 10%คนที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดกับผู้ที่เป็นฝ้า ก็มีโอกาสเป็นฝ้าได้มากกว่าคนที่ไม่มีคนในครอบครัวคนใดเป็นฝ้า
สาเหตุของฝ้า
ยังไม่สามารถระบุกลไกที่ชัดเจนได้ว่าเกิดจากอะไร แต่คาดว่าเกิดจากเซลล์ที่มีหน้าที่ในการสร้างสีในผิวหนัง (melanocyte) เกิดการผลิตเม็ดสีมากเกินไป คนที่มีสีผิวเข้มมีโอกาสเกิดฝ้าได้ง่ายกว่าคนที่ผิวขาวหรือสีผิวอ่อนกว่า เนื่องจากมี melanocyte หรือเซลล์ที่ผลิตเม็ดสีจำนวนมากกว่า
ปัจจัยที่กระตุ้นการเกิดฝ้า
แสงอาทิตย์ : แสงอัลตร้าไวโอเล็ต หรือ UV ในแสงอาทิตย์เป็นตัวกระตุ้น melanocyte แสงปริมาณน้อย ๆ ที่กระตุ้นให้เกิดฝ้าจะค่อย ๆ เลือนหายไปเองได้ในระยะเวลาหนึ่ง แต่การถูกกระตุ้นด้วยแสงอาทิตย์บ่อย ๆ หรือในปริมาณมาก ๆ จะทำให้เป็นฝ้าบ่อย มีสีเข้มขึ้น และหายยาก
การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน : ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์มักจะมีฝ้าเกิดขึ้นได้ง่าย ยาคุมกำเนิดและฮอร์โมนทดแทนก็สามารถกระตุ้นทำให้เกิดฝ้าได้
เครื่องสำอาง : การใช้เครื่องสำอางหรือบำรุงผิวบางอย่างอาจทำให้เกิดการระคายเคืองผิวและทำให้ลักษณะของฝ้าดูแย่ลง
วิธีการรักษาฝ้า
รอยฝ้าสามารถจางลงจนหายไปเองได้ในบางกรณีที่ทราบถึงสาเหตุว่ามีตัวกระตุ้น อย่างเช่น ฝ้าในคนท้องหรือฝ้าที่เกิดจากการรับประทานยาคุมกำเนิด เมื่อคลอดลูก, หยุดรับประทานยาคุมกำเนิด ฝ้าก็สามารถจางลงได้เองแต่สำหรับบางคนที่เป็นฝ้ามาเป็นระยะเวลาหนึ่ง หลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นต่าง ๆ แล้วฝ้ายังไม่จางหาย ก็สามารถรักษาได้โดยวิธีต่าง ๆ ดังนี้
1. Hydroquinone : ไฮโดรควิโนน ช่วยยับยั้งการก่อตัวของเม็ดสี (Melanin) เป็นตัวแรกที่มีการนำมาใช้สำหรับรักษาฝ้า มีทั้งที่เป็นตัวยาเดี๋ยว ๆ หรือเป็นส่วนผสมสำหรับทาผิวในรูปแบบต่าง ๆ ทั้่งครีม โลชั่น เจล หรือแบบน้ำ แต่มีข้อเสียคือไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เพราะอาจจะยิ่งทำให้ผิวบางลง, ผิวมีสีคล้ำลงยิ่งกว่าเดิม
2. Tretinoin & corticosteroid : สารกลุ่มนี้จะช่วยทำให้ผิวดูสว่างขึ้น โดยการช่วยผลัดเซลล์ผิว ครีมหรือผลิตภัณฑ์รักษาฝ้าต่าง ๆ อาจผสม Tretinoin, Corticosteroid และ Hydroquinonone ไว้ด้วยกันในครีมตัวเดียวเลย ซึ่งสารทั้ง 3 ตัวมีข้อจำกัดเหมือนกันคือ ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เพราะอาจจะยิ่งทำให้ผิวบางลง ทำให้ผิวคล้ำเสียได้ง่ายกว่าเดิม
3. ผลิตภัณฑ์สำหรับทาฝ้าที่ผสมสารอื่น ๆ เช่น Azelaic acid หรือ Kojic acid ซึ่งช่วยให้รอยฝ้าดูสว่างหรือจางลง
4. วิธีการอื่น ๆ : หากการใช้ยาทาฝ้าต่าง ๆ แล้วยังไม่ได้ผล ฝ้าไม่จางหายไป ก็อาจจะทำการรักษาโดยการใช้สารเคมีในการผลัดเซลล์ผิว (เช่น glycolic acid), Microdermabrasion (เทคนิคทางด้านความงามด้านผิวพรรณ ซึ่งใช้วิธีการขัดผิวด้วยผลึกคริสตัลขนาดเล็ก เพื่อกำจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วออกจากผิวชั้นนอก) ซึ่งวิธีเหล่านี้ควรอยู่ภายใต้การประเมินและดูแลของแพทย์ผิวหนัง เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาด้านผิวพรรณอื่น ๆ ตามมาภายหลังการรักษา
ข้อแนะนำ
สำหรับผู้ที่เริ่มเป็นฝ้า รวมทั้งผู้ที่ผิวหน้าบอบบาง ผู้ที่ต้องการหลีกเลี่ยงจากการเป็นฝ้า มีข้อควรปฏิบัติดังนี้1. ทาครีม,โลชั่นกันแดดทุกวัน เนื่องจากแสงแดดเป็นตัวกระตุ้นผิวหนังให้เกิดฝ้าได้ ถึงแม้ว่าจะเป็นวันที่เมฆมาก ดูเหมือนไม่มีแดดก็ตาม เนื่องจากยังมีรังสียูวีทะลุผ่านลงมากระตุ้นผิวหนังได้อยู่ โดยการเลือกกันแดดควรเลือกผลตภัณฑ์กันแดดที่มี SPF30 ขึ้นไป ทาผิวก่อนออกกลางแจ้งอย่างน้อย 15 นาที และทาซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมง ถ้ายังอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน
2. ใส่หมวกปีกกว้างที่บังแสงแดดมากระทบผิวหน้าได้ เมื่อต้องออกกลางแจ้ง เพราะผลิตภัณฑ์กันแดดเพียงอย่างเดียวอาจปกป้องแสงแดดได้ไม่เพียงพอ ถ้าเป็นไปได้ก็ควรพยายามหาที่ร่มหรือสวมเสื้อผ้าเพื่อช่วยป้องกันผิวจากแสงแดดอีกทางหนึ่ง
3. เลือกผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่มีความอ่อนโยน ไม่ทำให้แสบผิวหรือระคายเคืองผิว ซึ่งจะทำให้อาการของฝ้าแย่ลง
อ้างอิง
www.aad.org/dermatology-a-to-z/diseases-and-treatments/m---p/melasma
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น